ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก
ตุ๊กตาไล่ฝน
ช่วงนี้ฝนตกอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็เป็นสัญญานว่าหน้าฝนมาเยือนแล้วละสิ ถ้าวันไหนมีนัดสำคัญๆ คงจะต้องคอยภาวนาขอให้อากาศดี จะได้ไม่ต้องเปียกฝนจนเสียลุ๊ค แล้วก็ไม่ต้องเจอกับการเดินทางแสนลำบากกัน ที่นี้ก็เลยทำให้นึกถึงเรื่องเครื่องรางอย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่นเค้าขึ้นมา อันที่เอาไว้ขอให้อากาศดีทั้งวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขออย่าให้ฝนตกลงมากวนใจ ที่พี่ไทยเรียกว่า ตุ๊กตาไล่ฝน และที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Teru teru bouzu แขวนเจ้านี่จะไว้ไล่ฝนได้ คนญี่ปุ่นเค้าว่ากันอย่างนั้นนะ…
Teru teru bouzu มีความหมายแยกกันเป็นสองคำดังนี้ Teru หมายถึง แสงแดดหรืออากาศแจ่มใส และ Bouzu แปลว่าคนหัวโล้น ซึ่งก็คือนักบวชที่ต้องโกนผมนั่นแหละ คล้ายกับว่าเป็นมินิตุ๊กตานักบวชที่ทำขึ้นสำหรับขอพรนั่นเอง และเป็นความเชื่อที่ยาวนานมาก ญี่ปุ่นได้รับธรรมเนียมนี้มาจากประเทศจีน เมื่อราวสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794 - ค.ศ. 1185)
โดยเริ่มจากที่ประเทศจีนนั้นมีตุ๊กตาขอพรที่เป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงถือไม้กวาดอยู่ เรียกว่า So chin nyan เชื่อกันว่าไม้กวาดสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปได้ และผู้หญิงก็เป็นเพศที่มีความเชื่อในเรื่องของการขอพรหนักแน่นกว่าผู้ชาย ดังนั้นถ้าแขวนเจ้าตุ๊กตาเด็กผู้หญิงถือไม้กวาดไว้แล้วขอพรให้พรุ่งนี้อากาศแจ่มใส ก็น่าจะช่วยปัดกวาดเมฆฝนออกไปได้ด้วย
คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักตุ๊กตาไล่ฝนมาจากการ์ตูนเรื่อง เณรน้อยเจ้าปัญญา..อิคคิวซัง เพราะเป็นของดูต่างหน้าจากท่านแม่ของท่านอิคคิว ที่แขวนไว้กับต้นไม้ตรงทางเดินในวัดอังโคะคุจิ สิ่งนี้มีความหมายกับท่านอิคคิวมาก และมีหลายครั้งที่เณรน้อยอธิษฐานขอพรอื่นๆ จากตุ๊กตาไล่ฝนด้วยเช่นกัน
ที่จริงตุ๊กตาไล่ฝน เพิ่งจะมาเริ่มเป็นที่นิยมกันในช่วงเอโดะนี่เอง (ค.ศ. 1603 - ค.ศ. 1868) แม้ว่าในสมัยก่อนบางพื้นที่ ตุ๊กตาไล่ฝนจะยังคงถูกเรียกว่า Teri teri bouzu ซึ่ง Teri ซึ่งก็มีความหมายว่า แสงแดดหรืออากาศอบอุ่นเหมือนกัน เริ่มมาจากการที่ชาวนาชาวไร่แขวนตุ๊กตาไล่ฝนไว้นอกบ้าน เพื่อขอให้อากาศดีจะได้ออกไปทำมาหากินได้สะดวก
และมาสมัยนี้ที่เด็กๆ จะตื่นเต้นกับการไปทัศนศึกษา วันงานกีฬาสี และการไปเที่ยวงานเทศกาลต่าง ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเขามาก พวกเขาจึงมักจะรีบแขวนตุ๊กตาไล่ฝนไว้ที่นอกหน้าต่าง หรือนอกประตูบ้าน เพื่อขอให้วันรุ่งขึ้นอากาศแจ่มใส เพราะไม่มีใครอยากจะพลาดวันพิเศษเหล่านั้น เมื่อคำอธิษฐานเป็นจริง ก็จะต้องแขวนกระดิ่งหรือเทสาเกให้กับตุ๊กตาไล่ฝน เพื่อเป็นการขอบคุณด้วยนะ และถ้าหากวันไหนอยากให้ฝนเทลงมาล่ะก็ให้แขวนตุ๊กตาไล่ฝนกลับหัวซะ ที่นี้ล่ะก็..ฝนได้ตกลงทั้งวันแน่นอน (มั้ง อิ อิ)
บางวัดหรือศาลเจ้าบางแห่งที่ต้องทำพิธีในวันสำคัญๆ เขาก็นิยมแขวนตุ๊กตาไล่ฝนไว้ด้วยเหมือนกัน เพื่อเรียกสิริมงคล ขอให้สามารถทำพิธีไปได้อย่างราบรื่นไม่มีอะไรติดขัด ฝนก็ไม่ตก อากาศก็แจ่มใสไปจนกว่าจะจบพีธี และการพกตุ๊กตาไล่ฝนไว้กับตัวเองเป็นเสมือนเครื่องรางประจำกาย บางคนก็เชื่อว่าจะนำสิ่งดีๆ และความสดใสสดชื่นมาให้กับตัวเองได้ด้วย
แล้วยังมีบทเพลงสำหรับตุ๊กตาไล่ฝ
นมาฝากด้วยนะ เป็นเพลงสำหรับเด็กๆ ที่ฟังดูสดใสร่าเริงดี ชื่อเพลงว่า Teru
teru bouzu เขียนเนื้อเพลงโดย Asahara Kyoson และใส่ทำนองโดย Nakayama
Shinpei แต่งไว้เมื่อปี 1921 เป็นเพลงที่สดใส มีเนื้อหาเพื่อที่จะขอพรให้อากาศแจ่มใสและทิ้งท้ายด้วยการกล่าวถึงการให้รางวัลตอบแทน เพราะเพลงนี้จึงทำให้ผู้คนเรียก ตุ๊กตาไล่ฝน ว่า Teru teru bouzu มาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ Teri teri bouzu กลายเป็นชื่อในตำนานไป แต่ไม่ว่าจะเรียกยังไงความหมายก็ดีเหมือนกัน มาฟังเพลงกันดีกว่า...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น